คราบคาร์บอนแห้งกับ คราบคาร์บอนเปียกบนหัวเทียน ต่างกันยังไง

คราบคาร์บอนแห้งกับ คราบคาร์บอนเปียกบนหัวเทียน ต่างกันยังไง

ปลายจุดระเบิดของหัวเทียนเป็นส่วนที่สัมผัสกับห้องเผาไหม้ ทำให้จะมีคราบเขม่าคาร์บอนมาเกาะจับรอบๆฉนวนได้ และเนื่องจากคาร์บอนมีคุณสมบัตินำไฟฟ้า การมีเขม่าเกาะมากเกินไปจึงมีโอกาสทำให้ไฟรั่ว เมื่อโวลต์เตจสูงมากๆอาจทำให้เกิดประกายระหว่างคราบเขม่ากับข้างๆเหล็กเกลียวหัวเทียนหรือที่เรียกว่า "Side Spark" หรืออาจทำให้จุดพลาด หรือ “Misfire" ได้

และเมื่อหัวเทียนจุดระเบิดไม่ได้เราก็จะเรียกว่าหัวเทียนนี้ว่าหัวเทียนบอด

ชนิดของคราบคาร์บอนบนหัวเทียนที่เจอได้จะมีสองแบบ

  • ในกรณีที่เป็นคราบคาร์บอนแห้ง ( Dry Carbon ) พื้นที่ระหว่างมวลคาร์บอนจะยังพอมีช่องว่างบ้างทำให้กระแสไฟไม่ได้ไปตามคาร์บอนทั้งหมด ทำให้ความต้านทานฉนวนลดลงไม่มาก
  • แต่ในกรณีที่เป็นคราบคาร์บอนเปียก ( Wet Carbon ) คราบคาร์บอนจะติดกันต่อเนื่องทำให้กระแสไฟฟ้าจะไหลได้สะดวกขึ้นทำให้ความต้านทานของฉนวนลดลงเยอะ ซึ่งจะทำให้การจุดระเบิดพลาด รถมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะจะเจอแบบเปียกค่อนข้างบ่อย

Wet Carbon หรือ เขม่าคาร์บอนแบบเปียกเกิดขึ้นได้อย่างไร

ปัจจัยหลักอยู่ที่ส่วนผสมของอากาศ และน้ำมัน

  • ในการเผาไหม้ปกติ ปลายหัวเทียนจะถูกความร้อนจากการเผาไหม้ด้วยทำให้ส่วนผสมจะแห้ง คราบคาร์บอนที่จะติดกรณีส่วนผสมหนาแน่นเกินไปก็จะยังแห้งอยู่
  • แต่ในกรณีที่ส่วนผสมหนามาก หรือบางมาก ทำให้จุดระเบิดไม่สำเร็จ ส่วนผสมที่ไม่ได้ถูกเผาไหม้ก็จะไปค้างอยู่ตามฉนวนหัวเทียนและทำให้เปียกแบบในรูป ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุด้านล่าง
    • คาร์บูเรเตอร์มีปัญหา
    • หัวฉีดมีปัญหา
    • ออกซิเจนเซนเซอร์มีปัญหา
    • กรองอากาศตัน
    • ไทมมิ่งการจุดระเบิดช้าไป (ตั้งไฟอ่อนเกินไป)
    • เบอร์หัวเทียนเย็นไป ฯลฯ

สุดท้ายสาเหตุของ Carbon Fouling ส่วนมากจะมาจากระบบเชื้อเพลิง กรณีทำความสะอาดคราบคาร์บอนบริเวณหัวเทียน(ด้วยการพ่นทราย) ก็มีความเป็นไปได้ที่จะใช้งานปกติแล้ว แต่ถ้าไม่มีเครื่องทำความสะอาดหัวเทียนที่ถูกต้องก็แนะนำให้เปลี่ยนหัวเทียนเลยค่ะ

หมายเหตุ กรณีที่หัวเทียนมีเขม่าแค่สูบเดียว(กรณีที่สูบอื่นทำงานได้ปกติ) ก็เป็นไปได้ที่ปัญหาจะมาจากหัวเทียน เช่นอาจจะไขไม่แน่น หรือไขแน่นไปจนทำให้ฉนวนเสียหาย

ติดตามบทความเกี่ยวกับหัวเทียนจากเราได้ที่